สำหรับผู้ที่วางแผนไปเทรคเรียบร้อยแล้ว เรื่องที่จะมองข้ามไปไม่ได้เลย คือความปลอดภัยตลอดการเดินทาง และหัวข้อสำคัญอีกหัวข้อหนึ่งของการไปเทรคบนเขาสูงนั้นคือเรื่อง Altitude Sickness หรือ AMS (Acute Mountain Sickness) ซึ่งเป็นอาการป่วยที่เกิดจากความดันอากาศในที่สูง เรามาดูกันถึงสาเหตุของการเกิดอาการเหล่านี้และวิธีป้องกัน ศึกษากันให้ดีนะคะ เพราะข้อมูลเหล่านี้อาจจะช่วยชีวิตคุณในยามคับขันได้
อาการ
ขั้นแรก: ปวดหัว เวียนหัว คลื่นไส้ หายใจติดขัด นอนหลับยากหรือหลับไม่สนิท อ่อนเปลี้ยเพลียแรง
ขั้นรุนแรง: หัวใจเต้นเร็ว ทรงตัวไม่อยู่ ปวดหัวรุนแรง อาเจียน ไอต่อเนื่อง
สาเหตุ
อาการ Altitude Sickness จะเกิดขึ้นเมื่อคุณไต่ระดับความสูงขึ้นไปอย่างรวดเร็วในระดับความสูงเกินกว่า 2400 เมตรจากระดับน้ำทะเล ต้นเหตุของอาการเหล่านี้มาจากการที่ออกซิเจนในอากาศมี ในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลมาก อากาศจะเริ่มเบาบาง มีออกซิเจนในอากาศน้อยลงทำให้ปอดไม่สามารถทำงานส่งออกซิเจนจากอากาศไปเลี้ยงร่างกายได้ตามปกติ
การป้องกัน
- ในการเดินเขาที่มีความสูงมาก ควรกำหนดให้มีวันพักปรับสภาพร่างกาย อยู่ในระดับความสูงเดิม 1-2 วันก่อนจะไต่ขึ้นระดับความสูงขั้นถัดไป ไต่ระดับความสูงขึ้นช้าๆ เพื่อพักให้ร่างกายปรับตัวกับสภาพอากาศและลดความเสี่ยงในการเกิด Alitude Sickness
- ดื่มน้ำสม่ำเสมอ เนื่องจากร่างกายของคุณเสียเหงื่อและใช้พลังงานมาก จึงควรเติมน้ำให้ร่างกายสม่ำเสมอ หากเสียเหงื่อมาก น้ำเกลือแร่ก็เป็นตัวเลือกที่ดีเช่นกัน ส่วนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขอแนะนำให้เก็บไว้ดื่มฉลองหลังจากลงเขามาแล้ว เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้ร่างกายต้องการน้ำมากขึ้น
- ทานอาหารให้เพียงพอ อาหารประจำชาติเนปาลคือ Daal Bhat หรือ ข้าวกับซุปถั่วที่มาพร้อมผัดผักโขมและแกงใส่เนื้อสัตว์มีสารอาหารครบถ้วน คนเนปาลที่อยู่บนเขากล่าวถึงอาหารจานนี้ว่า “Daal Bhat Power 24 hour” เพราะเชื่อกันว่าถ้าทาน Daal Bhat แล้วไปเดินเขาจะมีพลังงานเพียงพอไปทั้งวัน เพราะฉะนั้นวิธีป้องกันอีกทางคือทานอาหารให้เพียงพอ และเลืกทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน เพื่อที่จะได้มีสุขภาพที่ดีตลอดการเดินทาง และทำให้การเทรคกิ้งเป็นประสบการณ์ที่สนุกจนลืมไม่ลง
- อย่าฝืน คุณรู้จักร่างกายของคุณดีที่สุด แต่ละคนมีปฎิกิริยาทางร่างกายไม่เหมือนกัน บอกได้เลยว่าอาการ Altitude Sickness ขั้นไม่รุนแรงนั้นสามารถเกิดได้กับทุกคน และส่วนมากจะสามารถเดินทางต่อได้โดยไม่เป็นอุปสรรค แต่หากอาการเริ่มรุนแรง และรู้สึกว่าร่างกายเริ่มไม่ไหว ต้องรีบแจ้งไกด์ทันที
เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ต้องทำอย่างไรบ้าง
ไม่ว่าจะเป็นอาการขั้นแรกหรือขั้นรุนแรง แจ้งไกด์ของคุณทันที ไกด์เทรคกิ้งชาวเนปาลที่มีใบอนุญาติแล้วจะได้รับการเทรนมาเป็นอย่างดี การเทรคกิ้งที่เนปาล ไกด์ไม่ได้เป็นแค่ผู้นำทาง แต่เป็นบุรุษพยาบาล นักปฐมพยาบาล ผู้ให้กำลังใจ และผู้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าทุกอย่างที่เกิดขึ้นระหว่างการเทรค ควรบอกอาการของคุณกับไกด์โดยละเอียด ไกด์ของคุณจะได้เตรียมรับมือกับสถานการณ์และวางแผนการเดินทางในวันถัดไปได้อย่างเหมาะสม
สำหรับอาการขั้นแรก
- แจ้งไกด์ทันที ให้ทราบถึงอาการโดยละเอียด
- พักร่างกาย อย่าเพิ่งไต่ระดับสูงขึ้นไปอีก
- ดื่มน้ำมากๆ
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- เมื่อรู้สึกดีขึ้นแล้วค่อยเดินทางต่อไปอย่างระมัดระวังและไม่รีบร้อน
สำหรับอาการขั้นรุนแรง
- พยายามเดินลงเขาไปสู่จุดที่มีความสูงน้อยลง (ลงอย่างน้อย 500 เมตร) และพักอยู่จุดนั้นจนกว่าอาการจะดีขึ้น
- หากไม่ดีขึ้นแจ้งไกด์ให้ติดต่อขอความช่วยเหลือโดยเร็ว
ถึงจะอยากลองเป็นแบคแพคเกอร์ลุยกันเอง หรือกลัวงบจะบานปลายเพราะจ้างไกด์ แต่อย่าลืมว่าชีวิตของคุณสำคัญที่สุด ไม่ควรประหยัดเงินจ้างไกด์หรือกลัวว่าถ้าไปกับไกด์จะดูไม่คูล การไปเดินเขาสูงๆ ควรไปกับไกด์ที่มีประสบการณ์ นอกจากไกด์จะแนะนำเรื่องราวต่างๆ ให้เกร็ดความรู้เกี่ยวกับประเทศที่คุณเดินทางไปได้แล้ว สิ่งสำคัญที่สุด คือไกด์จะเป็นผู้ช่วยแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าทุกอย่างที่เกิดขึ้นเพื่อให้การเดินทางของคุณราบรื่นและน่าประทับใจที่สุด